http://www.charming-amulets.com
 เข้าสู่ระบบ - สมัครสมาชิก  |  
 ตะกร้าสินค้า (0)  |  
 
                         


































 

(myamulets) 2010317_61027.jpg

 

 

 

(myamulets) 2010317_61055.jpg 

 

 

 

(myamulets) 2010317_61103.jpg

 

 

 

 

 

(myamulets) 2010317_61149.jpg

 

 

 

 

(myamulets) 2010317_61188.jpg

 

                        เรื่องและภาพอ้างอิงจาก วารสาร คเณศ์พร ฉบับที่ ๑๖๗ ปี ๒๕๔๘ หน้า ๖๔-๖๘


                         ผมขออนุญาตนำมาเผยแพร่เป็นวิทยาทานสำหรับท่านทั้งหลายครับ

                         สำหรับ "พระคาถาบูชาพระสยามเทวาธิราช" มีดังนี้ครับ

                         ( สวดบูชา "พระสยามเทวาธิราช" ทุกวันจะเป็นสิริมงคลแก่ผู้บูชา )

                        "สยามะเทวาธิราชา                เทวาติเทวา มหิทธิกา"

                "เทยยรัฏฐัง อะนุรักขันตุ                   อาโรคะเยนะ สุเขนะ จะ"

                "เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ                     สุวัตถิ โหตุ สัพพะทา"

                "สยามะเทวานุภาเวนะ                      สยามะเทวะเตชะสา"

                "ทุกขะโรคะภะยา เวรา                      โสกา สัตตุ จุปัททะวา"

                "อะเนกา อันตะรายาปิ                        วินัสสันตุ อะเสสะโต"

                "ชะยะสิทธิ ธะนัง ลาภัง                     โสตถิภาคะยัง สุขัง พะลัง"

                "สิริ อายุ จะ วัณโณ จะ                       โภคัง วุฑฒี จะ ยะสะวา"

                "สะตะวัสสา จะ อายู จะ                      ชีวะสิทธี ภะวันตุ เมฯ"

 

                        เนื่องจากเรื่องและภาพไม่ชัดเจน ผมขอความกรุณาอ้างอิงถึงบทความเกี่ยวกับพระสยามเทวาธิราชแด่ท่านทั้งหลายเพื่อเป็นวิทยาทานและเป็นองค์สักการะบูชาเพื่อความเป็นสิริมงคลทั้งปวงนะครับ

                        "โดย มาลัยรักษ์"

                        "ตั้งแต่ประเทศไทยได้ตั้งราชธานีทางใต้แต่สุโขทัยมากว่า ๗๐ ปีแล้ว ไทยเคยตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าเพียง ๒ ครั้ง ครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๑๑๒ แต่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชก็ทรงกู้เอาเอกราชกลับมาได้ภายใน ๑๕ ปึ ครั้งที่ ๒ เมื่อคราวกรุงแตกในปี พ.ศ. ๒๓๑๐ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีก็ขับไล่พวกนายกองพม่าออกไปได้ในระยะเวลาเพียง ๘ เดือนเศษ"

                        "ทั้งนี้เนื่องจากเหตุการณ์ทั้ง ๒ ครั้งไม่เหมือนกัน ด้วยครั้งแรกเป็นทัพกษัตริย์พระเจ้าบุเรงนองซึ่งทรงเดชานุภาพ มาก จึงเรียกกันว่า ผู้ชนะสิบทิศ ในพงศาวดาร แม้เช่นนั้น เหตุที่เอาชนะได้ต้นเหตุก็เพราะเราแตกแยกกันเองเนื่องแต่พระมหินทราธิราช ( โอรส ) และ พระมหาธรรมราชา ( ราชบุตรเขย ) ไม่ลงรอยกัน ครั้นบุเรงนองชนะแล้วก็จัดการกับเราเช่นประเทศราช คือเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นแบบเมืองขึ้น มิได้เผาผลาญเมืองให้ย่อยยับไป จึงเป็นเหตุให้ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงพยายามกลับมากู้ชาติ และในที่สุดก็ทรงกระทำยุทธหัตถีชนะพระมหาอุปราชาและประกาศอิสรภาพเป็นผลสำเร็จในเวลาต่อมา"

                     "ส่วนต้นเหตุของการเสียกรุงในครั้งหลังนั้น เกิดจากทางเมืองเชียงใหม่และเมืองทวายเป็นกบฏต่อประเทศพม่าทั้ง ๒ ทาง พระเจ้ามังระ จึงโปรดให้ เนเมียวสีหบดี เป็นแม่ทัพไปปราบเมืองเชียงใหม่ และให้ มังมหานรธา ไปปราบเมืองทวาย ในปี พ.ศ. ๒๓๐๗-๒๓๐๘"

                     "เผอิญทั้ง ๒ ทัพทำการสำเร็จได้รวดเร็วกว่าที่คาดไว้ เวลามีเหลืออยู่จึงสู้ปล่อยให้ข้าศึกได้ใจจนเข้าไปจนถึงพระนครได้ แต่ทางฝ่ายข้าศึกเองก็ต่างคนต่างเป็นแม่ทัพเสมอกันทั้งทางเหนือและทางใต้ ไม่มีใครเกรงใคร สุดแต่ใครทำได้มากกว่าก็จะได้ความชอบมากเท่านั้นเป็นความมุ่งหมาย กองทัพทั้ง ๒ ฝ่ายจึงกลายเป็นกองทัพโจรแล้วเข้าแย่งชิงปล้นสะดมทำตามอำเภอใจปรารถนา สิ่งใดหลืออยู่ก็เอาไปเผาผลาญจนหมดสิ้น มิได้คิดจะทำนุบำรุงไว้เป็นเมืองขึ้น เช่นทัพกษัตริย์เมื่อขนทรัพย์สมบัติผู้คนช้างม้าไปแทบหมดสิ้นแล้ว ก็แต่งตั้งพวกนายกองต่าง ๆ มี สุกี้มองญา ควบคุมอยู่ที่ค่ายโพธิ์สามต้นกับไพร่พล ๓,๐๐๐ คน และให้ นายทองอินทร์ คุมอยู่ทางเมืองธนบุรีอีกกองหนึ่ง ภายหลังสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงกู้อิสรภาพกลับมาได้ภายในเวลา ๙ เดือน"

                   "ต่อมาครั้นมหาอำนาจทางตะวันตกทำการเปิดประตูการค้ากับพวกตะวันออก ในช่วงต้นคริสตศตวรรษที่ ๑๙ พวกเมืองข้างเคียงไม่รู้ทันเหตุการณ์ภายนอกว่าทางตะวันตกมีอำนาจปืน เรือ พอที่จะเอาชนะได้ จึงพากันไม่ยอมทำสัญญา ซ้ำขับไล่ใช้อำนาจจนเกิดเป็นสงครามขึ้น เป็นธรรมดาที่คนมีแต่มีดจะต้องแพ้ผู้มีปืน จึงถูกเป็นเมืองขึ้นอย่างง่ายดาย"

                   "ฝ่ายไทยนั้น มหาอำนาจตกลงกันให้อังกฤษมาเป็นผู้เปิดประตูทำสัญญาค้าขายซึ่งตามที่จริงก็เคยมีไมตรีกันมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา แต่เมื่อบ้านเมืองมีศึกสงครามเกิดขึ้น ชาวต่างประเทศไปมาค้าขายไม่สะดวก จำต้องหยุดการติดต่อกันไปเป็นพัก ๆ เป็นเช่นนี้แก่ทุกบ้านทุกเมือง"

                   "เมื่อเสร็จศึกกับพม่าในรัชกาลที่ ๑ จนถึงรัชกาลที่ ๒ ชาวโปรตุเกสก็เข้ามาจากเมืองเก๊าเพื่อขอทำสัญญาค้าขาย ในปี พ.ศ. ๒๓๖๓ โปรดเกล้าฯ ให้รับสัญญาเพราะเรายังต้องการซื้อปืนไฟจากชาวตะวันตกอยู่ ต่อมาอีก ๒ ปี มิสเตอร์จอห์น ครอว์เฟิร์ด ทูตอังกฤษก็เข้ามาขอทำสัญญาจากผู้สำเร็จราชการอินเดียในปี พ.ศ. ๒๓๖๕ ถึงรัชกาลที่ ๓ อังกฤษรบกับพม่าเป็นครั้งแรก เมื่อได้ชัยชนะจึงให้ กัปตันแฮนรี่ เบอร์เนย์ เข้ามาทำสัญญาในปี พ.ศ. ๒๓๖๘, ทูตอเมริกัน มิสเตอร์ เอ็ดมอน โรเบิร์ต เข้ามาทำสัญญาในปี พ.ศ. ๒๓๗๕, มิสเตอร์ ริดชัน ทูตอังกฤษ เข้ามาทำสัญญาซื้อช้างในปี พ.ศ. ๒๓๘๑ และเซอร์ เจมส์ บรู๊ค ผู้เคยเป็นราชาผู้ครองเกาะซาราวัค เข้ามาขอทำสัญญาอีกเมื่อวันที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ. ๒๓๙๓ ซึ่งเป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๓ เสด็จสวรรคต"

                  "สรุปแล้ว ทูตอังกฤษได้เข้ามาขอทำสัญญากับเมืองไทยรวมถึง ๔ ครั้ง แต่ก็ได้แต่ทำเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่นเรื่องผ่านแดนไทยกับพม่า สัญญาซื้อขายช้างม้าและแลกเปลี่ยนสินค้าบางอย่าง ไม่ทำสัญญากับเมืองไทยโดยตรงอย่างเมืองอื่น ส่วนทางเมืองไทยก็ยังไม่มีใครเชื่อว่าจะมีผู้ใดมาเกะกะทางนี้ได้ บางคนนึกเลยไปว่าเหล็กจะลอยน้ำได้อย่างไร ในเมื่อมีใครเล่าว่า ทางมหาอำนาจตะวันตกนั้นมีเรือรบที่ทำด้วยเหล็ก ไทยจึงไม่เต็มใจจะเปิดประตูการค้ากับผู้ใดทั้งสิ้น เพียงแต่รับข้อที่จำเป็นในเวลานั้นเท่านั้น แต่ในที่สุดเราก็ได้พบในรายงานของ เซอร์ เจมส์ บรู๊ค ผู้ซึ่งเข้ามาครั้งสุดท้ายในรัชกาลที่ ๓ ว่า"

                    " .....พระเจ้าแผ่นดินกำลังเสด็จอยู่บนพระแท่นสวรรคต และพระองค์ที่จะทรงเสวยราชย์ใหม่ก็มีหวังจะพูดกันได้เรียบร้อย ฉะนั้น จึงขอรอการใช้กำลังบังคับไว้ก่อน....."

                    "ตามรายงานนี้เห็นได้ชัดว่า เขาเตรียมจะใช้กำลังกับเราอยู่แล้ว เผอิญให้เกิดมีการสวรรคตและเปลี่ยนแผ่นดิน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นเสวยราชย์ในเวลาที่ทรงทราบเหตุการณ์นอกประเทศอยู่ดีแล้วเพราะทรงมีเวลาศึกษาเพียงพอ ในเวลาที่ทรงผนวชเป็นพระภิกษุถึง ๒๗ ปี พอเสวยราชย์ได้ ๔ ปี เซอร์ จอห์น เบาริ่ง เจ้าเมืองฮ่องกงก็มีจดหมายส่วนตัวเข้ามากราบทูลว่า คราวนี้ตัวเขาจะเข้ามาเป็นราชทูตแทนพระองค์ควีนวิคตอเรีย ไม่ใช่เป็นเพียงทูตมาจากผู้สำเร็จราชการอินเดียเช่นคนก่อน ๆ เพราะฉะนั้นจึงหวังว่า จะไม่มีเรื่องเดือดร้อนถึงต้องขัดใจกัน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบข้อไขอันนี้ดี จึงทรงเปิดประตูรับในฐานะมิตร และเป็นผลให้เราได้พ้นภัยมาได้แต่ผู้เดียวในทางตะวันออกประเทศ"

                     "เมื่อเหตุการณ์เรียบร้อยจึงทรงพระราชดำริว่า เมืองไทยเรานี้มีเหตุการณ์หวิด ๆ จะต้องเสียอิสรภาพมาหลายต่อหลายครั้ง แต่เผอิญให้มีเหตุรอดพ้นได้เสมอมา ซะรอยจะมีเทพยดาองค์ใดองค์หนึ่งที่คอยพิทักษ์รักษาอยู่ จึงสมควรจะทำรูปเทพพระองค์นั้นขึ้นไว้สักการะบูชา แล้วโปรดให้ พระองค์เจ้าประดิษฐวรการ นายช่างเอกทรงปั้นรูปเทพพระองค์นั้น มีลักษณะเป็นเทวรูปหล่อยืนทรงเครื่องกษัตริยาธิราช พระหัตถ์ขวาทรงพระแสงขรรค์ พระหันต์ซ้ายยกขึ้นจีบพระดรรชนีเสมอพระอุระสูงประมาณ ๘ นิ้วฟุต งดงามได้สัดส่วน หล่อด้วยทองคำแท่งทั้งพระองค์ ทรงถวายพระนามว่า พระสยามเทวาธิราช ทรงสถิตในเรือนแก้วทำด้วยไม้จันทน์แบบวิมานเก๋งจีน มีจารึกที่ผนังเบื้องหลังเป็นอักษรจีน แปลความหมายว่า ที่สิงสถิตแห่งพระสยามเทวาธิราช เรื่อนแก้วนี้ประดิษฐานในพระวิมานไม้แกะสลักปิดทอง องค์กลางหน้าพระสยามเทวาธิราชเป็นที่ตั้งเทวรูปพระสุรัสวดี หรือพระพราหมีเทพเจ้าแห่งการดนตรีและขับร้อง พระวิมานองค์ด้านทิศตะวันออกตั้งเทวรูปพระอิศวรและพระอุมา พระวิมานองค์ทิศตะวันตกตั้งเทวรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ ปัจจุบันประดิษฐาน ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณในพระบรมมหาราชวัง เป็นสิ่งเคารพสักการะบูชาส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ และเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์อยู่ในจิต ใจคนไทยทั้งชาติตราบเท่าทุกวันนี้ "

                    " พระราชพิธีบวงสรวงพระสยามเทวาธิราชในปัจจุบัน กำหนดไว้ในปฏิทินหลวง  ตรงกับวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๕ ตามประเพณีนิยมว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่ทางจันทรคติแบบโบราณ อนุวัติตามราชประเพณีที่ทำในรัชกาลที่ ๔ รัชกาลที่ ๕ และรัชกาลต่อมา เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังจะเชิญพระสยามเทวาธิราช เทวรูปพระสุรัสวดีหรือพระพราหมี พระอิศวร พระอุมา พระนารายณ์ทรงครุฑ จากพระวิมานลงประดิษฐานที่โต๊ะสังเวยหน้าพระวิมาน และเชิญเทวรูปพระอิศวรองค์ใหญ่ เจว็ดมุก รูปพระภูมิเจ้าที่กับเจว็ดมุกเจ้ากรุงพาลีจากหอแก้วพระภูมิมาประดิษฐานที่โต๊ะร่วมสังเวยด้วย"

                      "เครื่องสังเวยประกอบด้วย หัวหมู เป็ด ไก่ เมี่ยงส้ม ทองหยิบ ฝอยทอง ส้มเขียวหวาน องุ่น มะตูมเชื่อม มะพร้าวอ่อน กล้วยหอมจันทน์ ขนมต้มแดง ขนมต้มขาว ผลทับทิม เทียนเงิน เทียนทอง"

                      "พระราชพิธีบวงสรวงสังเวยพระสยามเทวาธิราชในปัจจุบันนี้ ถ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชกรณียกิจอื่น ไม่สามารถเสด็จพระราชดำเนินในพระราชพิธีนี้ได้ จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอหรือพระราชวงศ์ผู้ใหญ่เสด็จมาทรงสังเวยพระสยามเทวาธิราชแทนพระองค์ เมื่อเสด็จพระราชดำเนินถึงพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ทรงจุดธูปเทียนถวายสักการะพระสยามเทวาธิราช แล้วทรงจุดธูปหางปักที่เครื่องสังเวย เสร็จแล้วเสด็จไปทรงจุดธูปเทียนบูชาเทวดา ( เครื่องสังเวยเทวดาเหมือนกับเครื่องสังเวยพระสยามเทวาธิราช ) ที่โต๊ะหน้าหอพระสุราลัยพิมาน ขณะที่ทรงจุดธูปเทียนถวายสักการะพระสยามเทวาธิราชและทรงจุดธูปเทียนที่โต๊ะเครื่องสังเวยเทวดานั้น ชาวพนักงานประโคมฆ้องชัย สังข์ แตร ดุริยางค์ ทำเพลงสาธุการ ศิลปินกรมศิลปากรรำถวายมือ จบแล้วแสดงละคร เมื่อละครแสดงจบแล้ว พระราชทานรางวัลแก่ผู้แสดงแล้วเสด็จกลับ"

                     "เมื่อธูปที่ปักไว้ ณ เครื่องสังเวยหมดดอกแล้ว เจ้าหน้าที่จึงลาถอนเครื่องสังเวยแล้วเชิญพระสยามเทวาธิราช เทวรูปพระสุรัสวดีหรือพระพราหมี พระอิศวร พระอุมา พระนารายณ์ทรงครุฑ ขึ้นสถิตบนพระวิมานตามเดิม และเชิญเทวรูปพระอิศวรองค์ใหญ่กับเจว็ดมุกรูปพระภูมิเจ้าที่และเจว็ดมุกรูปเจ้ากรุงพาลี กลับไปประดิษฐานที่หอแก้วพระภูมิตามเดิม " 

                    " ในปี พ.ศ. ๒๕๑๘ วัดป่ามะไฟ ตำบลโคกไม้ลาย อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเชิญรูปพระสยามเทวาธิราชและพระวิมานไปจำลองสร้างเป็นเหรียญที่ระลึกในโอกาสมหามงคลภิเษกเททองหล่อพระประธานประจำพระอุโบสถวัดป่ามะไฟร่วมกับทางราชการจังหวัดปราจีนบุรีขึ้นเป็นครั้งแรกในเมืองไทย ทางคณะกรรมการมีความมุ่งมั่นที่จะสร้างสื่งศักดิ์สิทธิ์อันเป็นมหามงคลยิ่งเพื่อให้สาธุชนทั่วไปมีไว้สักการะบูชา เกิดมีนิมิตหมายและปาฏิหาริย์ขึ้นหลายครั้งหลายหนจนเป็นที่ประจักษ์ว่า สมควรที่วัดจะจำลององค์พระสยามเทวาธิราชเป็นเหรียญที่ระลึกขึ้น คณะกรรมการจึงได้ดำเนินการนำความกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต จนในที่สุดด้วยอำนาจพระบารมีและเทพปาฏิหาริย์ ทุกอย่างจึงประสพความสำเร็จสมดังเจตจำนงที่มุ่งหมายไว้ โดยมีพระบรมราชานุญาตให้จัดสร้างได้ตามประสงค์"

                       "ลักษณะเหรียญ"

                       "เป็นทรงรูปไข่แบบเหรียญดุษฎีมาลาด้านบนเป็นลายช่อกนกมีหูในตัวตรงกลางช่อกนกมีเลขห้าไทยขึ้นหยักแบบเก้ายอดทั้งด้านหน้าด้านหลัง"

                       "ด้านหน้า เหรียญเป็นภาพจำลององค์พระสยามเทวาธิราชในท่าประทับยืน พระหันต์ซ้ายทรงจักร พระหันต์ขวาทรงพระขรรค์ ขอบเหรียญยกสูงเป็นเส้นกลมนูน พื้นเหรียญตามส่วนโค้งด้านบนเป็นอักขระขอมอ่านว่า อะสังวิสุโลปุสะพุภะ เป็นหัวใจพระนวหรคุณ สำหรับส่วนโค้งด้านล่าง เป็นอักขระขอม อ่านว่า พระสยามเทวาธิราช"

                       "ด้านหลังเหรียญ ตรงกลางเป็นลายเส้นรูปจำลองพระวิมาน ด้านบนมีอักขระขอม อ่านว่า นะชาลีติ เป็นหัวใจพระฉิม ด้านล่างมีอักษรไทย อ่านว่า พระวิมานพระสยามเทวาธิราช พ.ศ. ๒๕๑๘"

                       "เหรียญพระสยามเทวาธิราชนี้ ได้ทำพิธีพุทธาภิเษกเป็นดีเยี่ยม โดยมี พระครูวามเทพมุนี ประธานพราหมาจารย์ เป็นเจ้าพิธี มีรายนามพระเกจิอาจารย์ร่วมพิธีพุทธาภิเษกซึ่งล้วนแต่มีชื่อเสียงโด่งดังยิ่ง ดังนี้"

                      "๑. สมเด็จพระญาณสังวร วัดบวรนิเวศ กรุงเทพฯ ประธาน"

                       "๒. พระราชธรรมาภรณ์ ( หลวงพ่อเงิน ) วัดดอนยายหอม นครปฐม"

                       "๓. พระสังวรวิมลเถร ( หลวงปู่โต๊ะ ) วัดประดู่ฉิมพลี กรุงเทพฯ"

                       "๔. พระอาจารย์ฝั่น อาจาโร วัดป่าอุดมสมพร สกลนคร"

                       "๕. หลวงพ่อผาง จิตคุตโต วัดอุดมคงคาคีรีเขต ขอนแก่น"

                       "๖. พระครูศรีพรหมโสภิต ( หลวงพ่อแพ ) วัดพิกุลทอง สิงห์บุรี"

                        "๗. พระครูสันติวรญาณ ( หลวงพ่อสิม ) สำนักสงฆ์ถ้ำผาปล่อง เชียงใหม่"

                        "๘. หลวงพ่อแดง ติสโส วัดแหลมสอ เกาะสมุย สุราษฏร์ธานี"

                        "๙. พระครูชลธารธรรมพิทักษ์ ( หลวงพ่อหงษ์ ) วัดชลสงคราม สุราษฏร์ธานี"

                        "๑๐. พระอาจารย์วัน อุตตโม วัดอภัยดำรงธรรม สกลนคร"

                        "๑๑. พระครูสุตาธิการี ( หลวงพ่อทองอยู่ ) วัดใหม่หนองพะองค์ สมุทรสาคร"

                         "๑๒. พระครูเกษมธรรมานันท์ ( หลวงพ่อแช่ม ) วัดดอนยายหอม นครปฐม" 

                         "๑๓. พระครูปัญญาทราทร วัดเขาชายธง ถ้ำวิมุตติสุข นครสวรรค์"

                         "๑๔. พระกัสสปมุนี อำเภอบ้านค่าย ระยอง"

                         "๑๕. พระครูสังวรกิตติคุณ ( หลวงพ่อเอีย ) วัดบ้านด่าน ปราจีนบุรี"

                          "๑๖. พระอาจารย์สาม อภิญจโน วัดป่าไตรวิเวก สุรินทร์"

                          ผมขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตอัญเชิญพระคาถาสวดบูชา "พระสยามเทวาธิราข" "( ระตะนัตตะยัปปะภาวาภิยาจะนะคาถา )"    

                          "พระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว"

                          " อะระหัง สัมมาสัมพุทธโธ อุตตะมัง ธัมมะมัชฌะคา มะหาสังฆัง ปะโพเธสิ อิจเจตัง ระตะนัตตะยัง พุทโธ ธัมโม สังโฆ จาติ นานา โหนตัมปิ วัตถุโต อัญญะมัญญาวิโยคาวะ เอกีภูตัมปะนัตถะโต พุทโธ ธัมมัสสะ โพเธตา ธัมโม สังเฆวะ ธาริโต สังโฆ จะ สาวะโก พุทธัสสะ อิจเจกา พัทธะเมวิทัง วิสุทธัง อุตตะมัง เสฏฐัง โลกัสมิง ระตะนัตตะยัง สังวัตตะติ ปะสันนานัง อัตตะโน สุทธิกามินัง สัมมาปะฏิปัชชันตานัง ปะระมายะ วิสุทธิยา วิสุทธิ สัพพะเกลเส หิ โหติ ทุกเขหิ นิพพุติ นิพพานัง ปะระมัง สุญญัง นิพพานัง ปะระมัง สุขัง เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ สุวัตถิ โหตุ สัพพะทา ระตะนัตตะยานุภาเวนะ ระตะนัตตะยะเตชะสา อุปัททะวันตะรายา จะ อุปะสัคคา จะ สัพพะโสมา กะทาจิ สัมผุสิงสุ รัฏฐัง สยามานะเมวิทัง อาโรคิยะสุขัญเจวะ ตะโต ทีฆายุตาปิ จะ ตัพพัตถูนัญจะ สัมปัตโย สุขัง สัพพัตถะโสตถิ จะ ภะวันตุ สัมปะวัตตันตุ สยามานัง รัฏฐะปาลินัง เตจะ รัฏฐัญจะ รักขันตุ สยามะรัฏฐิกะเทวะตา สยามานัง รัฏฐะปาลีหิ ธัมมามิเสหิ ปูชิตา สิทธะมัตถุ สิทธะมัตถุ สัทธะมัตถุ อิท้ง ผะลัง เอตัสมิง ระตะนัตตะยัสมิง สัมปะสาทะนะ เจตะโส"

                           "พระคาถาบูชาพระสยามเทวาธิราช" "สวดบูชาทุกวัน จะเป็นสิริมงคลแก่ตัว"

                          บทความอ้างอิงเพื่อเป็นวิทยาทานจาก วารสาร คเณศ์พร ฉบับที่ ๑๖๗ ปี ๒๕๔๘ หน้า ๖๔-๖๘

                           ผมขอกราบขอบพระคุณ "คุณสมศักดิ์ ศกุนตนาฏ" และคณะทีมงาน วารสาร คเณศ์พร มา ณ ที่นี้ด้วยครับ ผมหวังว่าบทความต่าง ๆ นี้จะยังประโยชน์แด่ทุก ๆ ท่านนะครับ

 

Bookmark and Share



Online: 3 Visits: 3,579,333 Today: 180 PageView/Month: 598